อยากเป็นลูกเรือมาทางนี้ : Interview อดีตกรรมการคัดเลือก ในคำถามที่หลายๆคนอยากรู้

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง สำนวนนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอเลยนะคะไม่ว่าจะกับเรื่องใดก็ตาม แม้กระทั่งการคัดเลือกลูกเรือของสายการบินต่างๆ ที่เปิดรับอยู่เสมอๆ แต่ผู้สมัครก็มากขึ้นกว่าจำนวนการเปิดรับ หลายสิบเท่าตัว บางสายการบินโอกาสในการเข้ามีเพียงแค่ 1:1000 ทีนี้จะทำอย่างไรให้ตัวเราโดดเด่นออกมา จากผู้สมัครคนอื่นๆ วันนี้ทางทีมงาน Crewslife 360 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับอดีตผู้บริหารสายการบินแห่งชาติ หลายท่าน โดยแต่ละท่านล้วนเคยผ่านการเป็นกรรมการคัดเลือกลูกเรือมาแล้ว วันนี้เราจะได้มุมมองที่หลากหลาย จากท่านกันค่ะ

ท่านแรก อาจารย์เฉิดโฉม ชอคเกิล เคยดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองเอกสารการบริการบนเครื่องบิน
ดร.สุเทพ เทียนสี เคยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานการบริการบนเครื่องบิน
ดร.พิณคำ โรหิตเสถียร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน และ
อาจารย์สุรพิน สุประดิษฐ์ เคยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

ขั้นตอนการ Pre-Screen มีคนเข้าร่วมครั้งละมากกว่า 1,000 คน เราจะมีวิธีอย่างไรให้ โดดเด่นออกมาจากคนอื่น

ดร.พิณคำ – ทุกคนมีมุมมีจุดเด่นที่เป็นคนตัวเองพยายามแสดงจุดนั้นออกมาให้เห็น แสดงความน่ารัก ความเป็นธรรมชาติ ต้องพยายามหาตัวเองให้เจอ

ลูกเรือในอุดมคติเป็นอย่างไร

ดร.พิณคำ – ความเป็นธรรมชาติ, ความสดใสถ้าคำในภาษาอังกฤษเรียกว่า Plasant เห็นแล้วอยากพูดคุยด้วย ไม่ใช่สวยครบ  Perfect แต่ขาดเสน่ห์

ดร.สุเทพ – ควรจะต้องมีความคิดเชิงบวก ทัศนคติที่ดี แสดงออกให้ผู้คัดเลือกมองเห็นได้ เพราะเราทำงานด้านการบริการ อะไรที่แสดงออกทางสีหน้า สายตา ทางคำพูด จะทำให้ได้เปรียบ ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำงานบริการ สายตาที่เป็นมิตร สามารถสัมผัสได้ออกมาจากข้างใน

อาจารย์เฉิดโฉม – ไม่ควรจะ Fake หรือแสดงความไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องสวยแต่ควรมีเสน่ห์

ทีมงานได้รับคำถามจากทางบ้านมาว่า ไม่สวยเป็นแอร์ได้มั้ยคะ ตอนนี้มีสิวเยอะ ดั้งไม่มี ปัจจัยเหล่านี้มีผลกับการเป็นลูกเรือมากน้อยแค่ไหน

ดร.พิณคำ – โดยทั่วไปแล้วเราจะไม่มีกฏเกณฑ์ว่าเป็นแอร์ ต้องสวย แต่อย่าให้ถึงขนาดว่าว่าดูไม่ได้เลย

ดร.สุเทพ – ที่จริงแล้วในมุมมองของผม ความสวยเหมือนอาหารอร่อย ไม่มีกฎเกณฑ์ในการวัด เพราะแต่ละคนมีความชอบที่แตกต่างกัน คนนึงอาจจะบอกสวยบอกอร่อย แต่อีกคนบอกตรงข้ามก็ได้ สำหรับบางท่านที่บอกว่าตัวเองไม่มีดั้ง บางคนอาจจะบอกว่าไม่สวย สำหรับบางคนอาจจะมองว่ามีเสน่ห์ก็ได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่หัวข้อหลักที่ใช้ในการคัดเลือก ไม่สวยได้แต่เราต้องมีเสน่ห์ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีอะไรที่โดดเด่นออกมา

ดร.พิณคำ – บางคนเดินเข้ามาในห้องดูธรรมดามาก ไม่สะดุดตา แต่พอได้เริ่มพูดคุยกลับเห็นว่าคนนี้คือคนที่ ทางเราอยากรับ น่าสนใจ ในขณะที่บางคนเดินเข้ามาสวยมาก แต่พอคุยแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่

เพราะฉะนั้นขั้นตอนการ Pre-Screen First Impression มีส่วนมากใช่มั้ยคะ

ทุกท่านตอบพร้อมกัน – มาก!

ดร.พิณคำ – ตัวอย่างนะคะ บางคนสวยเป๊ะเข้ามาเลย เสื้อผ้าหน้าผม เป๊ะ แต่พอเดินเข้ามาคุยแล้วไม่ใช่ตัวคุณเหมือนหุ่น แข็ง ทื่อเหมือนท่องมา แต่บางคนเดินเข้ามาธรรมดามาก แต่พอคุยแล้วเป็นธรรมชาติ น่ารัก เวลาพูดไปเค้ายิ้มไป นี่แหละคือตัวคุณ เราอยากได้แบบนี้ การไปฝึกมา ท่องมาจนเป๊ะ อาจใช้กับข้อเขียนได้เต็ม แต่คงใช้ไม่ได้กับการ Prescreen

อาจารย์เฉิดโฉม – การเป็นตัวของตัวเองก็ไม่ใช่ว่าเดินเข้ามาเตะโน่นเตะนี่ แบบนี้นะคะ ต้องรู้จักกาลเทศะ และควรมีมารยาทที่ดีพอรับได้ด้วย มีหลายคนชอบเดินเข้ามาแล้วยืนทำท่านี้ (อาจารย์ทำท่ากุมมือและยกวางไว้ข้างลำตัวเหมือนนางงาม) บางทีเราก็เอ๊ะทำไมต้องยืนกันท่านี้ แต่ต้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องยืนแบบนี้ พยายามเป็นตัวของตัวเอง แต่อย่าทำกะเร้อกะรัง ถามคำตอบคำก็ไม่ใช่ คุยมากไปก็ไม่ใช่เสน่ห์  รวมถึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่พอถามนอกสิ่งที่เตรียมมาก็ไปต่อไม่เป็น

อาจารย์สุรพิน- ก่อนสมัครก็ต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละสายการบิน เพราะแต่ละสายมี concept ที่ไม่เหมือนกัน

ดร.พิณคำ – หลายที่เค้าจะเตรียมคำตอบมาให้ เหมือนการไปสมัครงาน การประกวดต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้ถามตามนั้น อยากคุยอะไรเราก็คุยไปถามไป บางครั้งพอนอกกรอบจากที่เคยรู้มาก็เริ่มตอบไม่เป็นธรรมชาติ

อาจารย์เฉิดโฉม – ต้องมีไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ถ้าไม่มีไหวพริบแล้วจะทำงานยาก เพราะต้องเจอปัญหาหน้างาน มี positive thinking

ดร.สุเทพ – บางทีเวลาเราถามคำถาม ก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องที่ถามหรอกแต่อยากค้นหาความเป็นตัวตนของคุณ ถามเรื่องที่ทำงาน ถามเรื่องพี่น้อง กรรมการอยากดูว่าคุณคิดอย่างไรกับคนเหล่านั้น มองความสัมพันธ์กับคนอื่นยังไง Attitude เป็นอย่างไร

อาจารย์เฉิดโฉม – คำถามยอดนิยมที่ส่วนใหญ่กรรมการจะถามนะคะคือทำไมถึงอยากเป็นแอร์ ทำไมถึงคิดว่าคุณเหมาะสมกับการเป็นแอร์ บางคนตอบว่า ชอบความตื่นเต้น ทางกรรมการก็จะงงๆ หน่อย เอ๊ะนี่จะไปขี่จักรยานไต่ถังหรือยังไง คำตอบแบบนี้คือไม่ค่อยตรงกับคำถามเท่าไหร่

อาจารย์สุรพิน – ส่วนใหญ่ก็จะตอบ ชอบท่องเที่ยว ชอบการบริการ ชอบเดินทาง เป็น Pattern เดียวกันเพราะเตรียมมาแบบนั้น

อาจารย์เฉิดโฉม – คือบางคำถามเราไม่ได้อยากรู้ขนาดนั้น เน้นให้เป็นธรรมชาติ Be yourself (แบบไม่ก้าวร้าวนะคะ) มี Positive Attitude/ Friendly เข้าใจโลก

ดร.สุเทพ – บางคนเตรียมอยู่หน้ากระจกท่องประวัติตัวเอง จริงๆ ประวัติเหล่านี้มันอยู่ในใบสมัครอยู่แล้วกรรมการเค้าไม่ได้อยากรู้หรอก เค้าอยากดูตัวตนที่แท้จริงของคุณ

อาจารย์เฉิดโฉม – แต่บางทีเค้าถามคุณเพราะต้องการเช็คคำตอบในสิ่งที่คุณกรอกข้อมูลมาว่าจริงมั้ย ทำได้หรือเปล่า

รบกวนช่วยแนะนำแนวทางในการสัมภาษณ์หน่อยค่ะ

ดร.สุเทพ
– เทคนิคง่ายๆ ถ้าเป็นข้อเขียน เราต้องการคำตอบที่ถูกต้อง แต่การสัมภาษณ์ เราต้องการหาคำตอบอย่างอื่น เช่น ตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัคร
– การตอบ ต้องตอบให้ตรงคำถาม ฟังดูอาจจะไม่ยากเท่าไหร่ แต่เมื่อถึง ณ สถานการณ์ตรงนั้น เรามีความกดดัน ความตื่นเต้น ความคาดหวังของตัวเอง ทำให้บางครั้งเราสื่อออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ บางครั้งผู้สมัครพยายามตอบในสิ่งที่คิดว่ากรรมการอยากได้ยิน แต่ที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้ รวมถึงปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างนึง คือเราจะไปสัมภาษณ์งานที่ไหน ต้องศึกษาวัฒนธรรมขององค์กร เช่นสมัครสายการบินแห่งชาติ เราต้องแสดงออกถึงวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ให้ดีพอ เคยเจอประเภทนักเรียนนอก เดินเข้ามานั่งไขว่ห้าง กระดิกเท้า ชี้มาที่กรรมการ แม้คุณสมบัติจะพร้อม แต่ก็ไม่ผ่านอยู่ดีเพราะบุคลิกไม่เข้ากับวัฒนธรรมไทย

การคัดเลือกแต่ละสายการบินมีความต่างกันอย่างไรบ้างคะ

ดร.สุเทพ – สำหรับคุณสมบัติ โดยรวมแล้วจะมีความใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่านโยบายของแต่ละสายการบิน แต่ละองค์กรจะชูความต้องการอะไรเป็น Priority ที่ 1, 2, 3, 4 บางสายการบินไม่เน้น Culture เค้าก็จะชูในเรื่องของบุคลิกที่เข้ากับคนง่าย ความร่าเริง ความแจ่มใส  อย่างอื่นๆ ก็จะมาเป็นอันดับถัดๆ ไป  แต่อย่างสายการบินไทย ก็จะเน้นเรื่องของมารยาท การพูดการแสดงออกมาเป็นอันดับแรกๆ สังเกตุได้จาก Uniform น่าจะพอรู้ว่าสายการบินสื่ออะไรกับเรา ดูจาก Logo, Slogan ว่าเค้าให้ความสำคัญกับอะไร

อาจารย์สุรพิน – จะไปสมัครที่ไหน ก็ต้องศึกษาข้อมูลของเค้าด้วย

ดร.พิณคำ – ดู Vision/ Mission เช่น สายการบินไทยคือให้บริการดีเลิศด้วยเสน่ห์ไทย ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องมีความเป็นไทย ทันสมัย Smart สดใส ร่าเริง

ดร.สุเทพ – ที่จริงคำว่าความเป็นไทยมันแค่ 3 คำ ง่ายๆ แต่จริงๆ แฝงไปด้วยหลายอย่าง กิริยามารยาท คำพูดคำจา  การให้เกียรติ การเคารพผู้ใหญ่ ความเกรงใจ ความเห็นใจ ความเมตตา เป็นต้น เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่กรรมการมองหา

ดร.พิณคำ – บางสายการบินเค้าอาจจะเน้นย้ำเรื่องภาษาอังกฤษ ส่วนสายการบินไทย ก็ต้องการแต่ในขั้นสื่อสารได้ ฟังเข้าใจ สำเนียงแบบไทยไม่เป็นไร แต่บางสายการบินอาจจะเน้นเรื่อง English communication เป็นความสำคัญอันดับแรก ซึ่งQulification ของแต่ละสายการบินจะมีความใกล้เคียงกัน แต่การให้ priority ของแต่ละปัจจัยมีความแตกต่างกัน ดังนั้นคนที่เคยเป็นลูกเรือแล้ว สมัครสายไหนอีกก็มักจะได้ เพราะเค้ามีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของอาชีพ  มี Character คล้ายๆกัน

มีคำถามจากทางบ้านมาอีกข้อค่ะเรื่องทรงผมสำหรับผู้หญิง – จำเป็นมั้ยคะว่าจะต้องทำผม ทรงเดียวกันแบบที่ทุกคนชอบทำ (ทรงกล้วย)

ทุกคน – ไม่เคยมีใครบอกเลยนะว่าต้องผมกล้วย (หัวเราะ)

ดร.พิณคำ – ขอแค่เสื้อผ้าหน้าผมให้มีระเบียบวินัย เพราะเราให้บริการอาหารเเละเครื่องดื่ม ดังนั้น hygiene คือสิ่งสำคัญ รวบเก็บให้เรียบร้อยตามสมัยนิยม

ดร.สุเทพ & อาจารย์สุรพิน – ผมยาว เล็บดำ รอยสัก keriod ก็จะทำให้มันไม่น่าดู ไม่น่าทาน เราจะเกล้ามวย ใส่ Hairpiece ก็ได้ เมื่อก่อนจะฮิตทรงกล้วย

ดร.สุเทพ – คอนเฟิร์มเลยว่า ตอน พรีสกรีนและสัมภาษณ์ไม่ต้องเกล้าผมก็ได้ ขอแค่รวบและหวีให้เรียบร้อย ทรงกล้วยไม่ได้อยู่ในข้อบังคับใดๆ จะทำเป็นส้มโอ มะละกอ แตงโมก็ได้หมด แต่ตอนปฏิบัติหน้าที่การเกล้าผม เป็นระเบียบขององค์กร ไม่ได้บังคับให้ทำทรงกล้วย แต่ควรจะเก็บผมให้เรียบร้อย ที่ส่วนใหญ่จะเกล้าผมเพราะเวลาใส่ชุดไทย จะทำให้ดูคอยาวระหงส์ สวยงาม

ดร.พิณคำ – บางสายไม่ได้ให้บริการแบบเรา ก็อาจให้ปล่อยผม หางม้าได้ แต่ส่วนใหญ่สายการบิน Premium ทุกสาย เก็บผมมวยหมด

ดร.สุเทพ & อาจารย์เฉิดโฉม – ตอนสัมภาษณ์ ทรงกล้วยไม่ได้มีผลว่าจะรับหรือไม่รับ แม้กระทั่งเกล้ามวยก็ไม่ได้บังคับ ขอแค่เรียบร้อย สมวัย การเกล้าผมอาจจะดีกว่าหางม้า เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครสามารถทำผมเองได้ ทำผมเนี๊ยบ เพราะบางทีเค้าอยากรู้ว่าถ้าเราทำงาน เราจะทำผมเองเป็นไหม เนี้ยบขนาดไหน

เคยอ่านเจอว่ามีให้แกะผมแล้วมัดใหม่ในห้องสัมภาษณ์เลย

ดร.พิณคำ – มี เพราะบางคนเตรียมช่างแต่งหน้า ทำผมมาพร้อมเลย แต่ในชีวิตจริง เราจ้างช่างทุกวันไม่ได้

ดร.สุเทพ – เชื่อว่ากรรมการไม่ได้อยากเห็นทุกคนทำผมทรงเดียวกันหมด แต่อยากเห็นทรงผมที่มีความสุภาพเรียบร้อย เพราะมันแสดงถึงนิสัยเจ้าของด้วย เช่นความเป็นระเบียบ ความสะอาด

อ้วนเป็นแอร์ได้มั้ย

อาจารย์เฉิดโฉม – เดี๋ยวนี้มีคนถามเหมือนกันว่าอ้วนเป็นได้ไหม

ดร.สุเทพ – ถามว่าอ้วนแค่ไหน เค้าจะมี range BMI ให้ได้ตามเกณฑ์ อย่าใช้ความรู้สึกว่ารู้สึกอ้วนต้องใช้ตาชั่งคำนวนกับส่วนสูง ถ้าน้ำหนักสัมพันธ์กับส่วนสูงก็ถือว่าใช้ได้

ดร.พิณคำ – แต่บอกได้เลยนะคะว่าถ้าน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ เกินขีดนึงก็ไม่รับนะคะ ถ้าเกิดเบาไปนิดนึงอาจจะพอได้ถ้าไม่ได้ดูว่าไม่แข็งแรง ดูเจ็บป่วย ให้มีลักษณะดูแข็งแรงหน่อย น้อยกว่าเกณฑ์นิดหน่อยได้ แต่มากกว่าไม่ได้ เพราะแนวโน้มของคนเราส่วนใหญ่จะยิ่งอยู่จะยิ่งน้ำหนักมากขึ้น

ดร.สุเทพ – พยายามถามตาชั่ง อย่าถามตัวเอง

ดร.พิณคำ – เรื่องส่วนสูง บางคนเอาบัตรประชาชนมาอ้างอิง ในตอนถ่ายบัตรประชาชนบางเขตก็เข้มงวดให้ถอดรองเท้า บางเขตก็ไม่เข้มงวดใส่รองเท้าได้บางคนแอบเขย่งตอนถ่าย แล้วเอามายืนยันกับกรรมการเรื่องส่วนสูง เกณฑ์ที่กำหนดไว้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ขาดเซนต์เดียวก็ไม่ได้ ไม่ได้ขายเงาะนะจะได้มาต่อขีดสองขีด เพราะมันเป็นเกณฑ์มาตรฐาน การทำไม่ถูกต้องกับคนหมู่มาก เราต้องตอบสังคมได้ ต้องมี Good Governance เราต้องตอบเค้าให้ได้ เพราะ Basic Qualification มันเป็น Fact เป็นตัวเลขที่ต้องวัดได้ เกิดไปถึงรอบว่ายน้ำ ผมเรียบแปล้ ไม่มีรองเท้า ยืนเตี้ยอยู่คนเดียว กรรมการก็ต้องรับผิดชอบ

จากบทสัมภาษณ์ที่เราคุยกับทางผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนได้คำตอบในใจกันพอสมควร เหลือแต่การเตรียมความพร้อม เตรียมกาย เตรียมใจ และพร้อมที่จะต่อสู้กับผู้สมัครจำนวนมาก ให้ไปถึงเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ อย่าลืมนะคะ ความผิดพลาดในวันนี้ ทำให้เราเติบโตขึ้นในวันข้างหน้า พลาดครั้งนึง ไม่ใช่จุดจบและความผิดพลาดตลอดไป พี่ๆ หลายคน ก็ผ่านการสมัครมาหลายครั้งแล้วเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณที่อ่านบทความสุดแสนจะยาวมาถึงช่วงท้ายนี้นะคะ สุดท้ายจริงๆ แล้ว ขออนุญาตขายของตรงนี้ตรงๆ เลยค่ะ ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจสมัครทำงานเป็นลูกเรือ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร หรือว่าเคยลองสอบหลายครั้งแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยังไม่ผ่านซักที สมัครเรียน Course THE CABIN CREWS WORKSHOP ได้เลยนะคะ กำลังจะเปิดเดือน มิ.ย ที่จะถึงนี้แล้วค่ะ เรามีทีมงานจากหลากหลายสายการบินทั้ง Junior Senior รวมถึงท่านอดีตกรรมการทั้ง 4 ท่าน ให้ผู้เข้าร่วมได้รับฟัง ลองสอบเสมือนจริงทุกรอบ ทั้ง Pre Screen ข้อเขียนต่างๆ มีทีมงานแนะนำเรื่องบุคลิกจากสถาบันชื่อดัง และได้รับสมุดสรุปผลรายบุคคลเพื่อนำข้อดีไปเสริมให้โดดเด่น และแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง สนใจสอบถามได้ที่ เพจ Crewlife 360 หรือโทร 0993291666, 0629989944 ได้เลยค่าา